ปลุกกระแสพอเพียง ทางเลือกใหม่เปิดเครือข่ายขยายทั่วโลก ปลุกกระแส ศก.พอเพียงทั่วโลก ร่วมสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ หวังเป็นทางเลือกใหม่ แก้ปัญหาของโลก ชี้หากมุ่งเน้นทุนนิยม อาจล่มสลายเร็วขึ้น รัฐ เอกชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ระดมสมอง หวังใช้บริหารประเทศได้จริง การจัดระดมสมองครั้งที่ 1 โครงการจัดทำแผนที่เดินทาง (โรดแม็พ) และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการระดมสมองและจะนำข้อมูลไปทำโรดแม็พและสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระดับประเทศ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้แสดงปาฐกถาเกี่ยวกับกระแสเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ต้องตระหนักว่า ไม่ได้มีรถยนต์ประเทศไทยคันเดียวที่แล่นอยู่บนถนนที่เราได้กำหนดเส้นทางเอาไว้ ยังมีรถยนต์อีกหลายคันที่กำลังวิ่งไปในทางเดียวกับเรา การสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ เปรียบเสมือนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เส้นทางระหว่างกันและกันกับยานยนต์ประเทศอื่นอีกหลายประเทศที่แล่นไปในทางเดียวกัน อาจมีแผนที่ประจำรถกันคนละภาษา แต่ก็สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงเหมือนประเทศไทย จึงเป็นการค้นหาจุดร่วม การวิเคราะห์เปรียบเทียบในเชิงวิชาการการเผยแพร่ความรู้ตลอดจนข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนถักทอเครือข่าย ระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนยานยนต์ประเทศต่างๆ เหล่านี้ให้ไปสู่จุดหมายแห่งเดียวกัน เป็นจุดหมายที่มีความสมดุล พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงและมีความรู้เท่าทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์บนถนนแห่งความพอเพียง
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผอ.สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง ระหว่างประเทศ กล่าวว่า การทำงานของเครือข่ายขณะนี้อยู่ระหว่างการประชุมนักวิชาการในเวทีสากล เพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์เปรียบเทียบการเชื่อมโยง และการสังเคราะห์ในเชิงวิชาการ เพื่อให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่แพร่หลายในเวทีโลก เครือข่ายนักวิชาการเหล่านี้จะได้มาประชุมร่วมกันเพื่อนำเสนอบทความทางวิชาการ ทฤษฎี และการประยุกต์ใช้ในแต่ละสังคมประเทศ รวมถึงการใช้ในการแก้ปัญหาทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำลังประสบปัญหาขณะนี้ เช่น ภาวะโลกร้อน และในอนาคต ก็มีโครงการดำเนินจัดเวทีประชุมระดับนานาชาติ สัมมนาประชาคมพอเพียงระดับโลก (world sufficiency forum)
จัดทำโรดแม็พเศรษฐกิจพอเพียง
ดร.อภิชัย พันธเสน ผอ.สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศนี้เป็นการต่อยอด จากนโยบายของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี ) ที่ก่อนหน้านี้การเผยแพร่หลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นเพียงการนำเสนอหลักการในเชิงหลักปรัชญาที่อาจจะยังไม่ได้ระบุหลักปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยยูเอ็นดีพีเน้นความยั่งยืนของการพัฒนา (sustainability) ระดับนานาชาติ หลังพบว่าระบบทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน เป็นจุดเริ่มต้นนำมาซึ่งความล่มสลายในเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ต้องการการอธิบาย สร้างความเข้าใจ หลังจากนิตยสาร the economist ได้บิดเบือนปรัชญาเศรษฐกิจจนเกิดความเสียหาย ซึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับนักวิชาการในต่างประเทศ
ต่างชาติหันเน้นความพอเพียง
“ทางทีมงานทราบว่าต่างประเทศมีการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน เพียงแต่เรียกกันในชื่ออื่น เช่น ประเทศมาเลเซีย มีแนวคิด Islamic economy หรือประเทศอังกฤษมีระบบเศรษฐศาสตร์มนุษยนิยม (humanistic economy) และ economics of happiness ประเทศแถบละตินอเมริกา เช่น อาร์เจนตินา บราซิล มีระบบเศรษฐกิจสมานฉันท์ (solidarity economics) หรือบังกลาเทศก็มีระบบธนาคารคนจน ซึ่งต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นความสมดุลและยั่งยืน”
ดร.อภิชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ต่างประเทศสนใจเข้าร่วมการสัมมนาในประเทศไทยกันมาก เช่น ในเดือนกรกฎาคม จะมีการประชุม economics of happiness ส่วนในเดือนธันวาคม องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีเอสซีโอ) จะจัดประชุมการศึกษาระดับการมีส่วนร่วมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ก็จะมีวาระการประชุมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงโดยเฉพาะด้วย
ดร.อภิชัย กล่าวถึงการจัดทำโรดแม็พเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อจะให้นโยบายนี้อยู่กับประเทศไทยต่อไป แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาล เนื่องจากเกรงว่าหากมีการเลือกตั้งและเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศก็จะหายไปกับรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งโรดแม็พจะจัดทำเป็นแผนทั้งระยะสั้น กลางและยาว ภายใน 20 ปี เพื่อที่จะเน้นพัฒนาเศรษฐกิจระดับรากแก้วเนื่องจากขณะนี้ปัญหาของประเทศ ไทยอยู่ที่ภาคชนบท เป็นกลุ่มคนที่รายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ หากไม่มีการทำโรดแม็พ จะเป็นการเน้นเพียงเศรษฐกิจระดับมหภาค ซึ่งอาจไม่เพียงพอกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ
การจัดทำโรดแม็พจะกำหนดว่าประเทศไทยจะมุ่งหน้าไปในทิศทางใด ขณะนี้อยู่ที่ตำแหน่งใด และการไปถึงเป้าหมายต้องปรับปรุงอะไรบ้าง เป็นการจัดลำดับความสำคัญของการไปสู่เป้าหมายในประเด็นต่างๆ โดยที่จริงแล้วประเทศไทยก็เริ่มมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ที่เน้นให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางการพัฒนาของประเทศ แต่บางครั้งก็ไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างแท้จริง ซึ่งแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 จะเป็นการเน้นความสุขของประชาชนชาวไทยอย่างเป็นทางการฉบับแรก
“หากเปรียบเหมือนการขับรถยนต์ประเทศไทย จำเป็นต้องมีเข็มทิศเพื่อชี้จุดหมายที่จะไปถึง ต้องทราบหลักกิโลที่บอกระยะทางว่าเรากำลังก้าวหน้าไปในทิศทางดังกล่าว และต้องมีป้ายเตือนภัยรายทาง รวมทั้งเครื่องหมายบอกทางแยกให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้รถยนต์ไทยเฉไฉออกนอกเส้นทางและสุ่มเสี่ยงต่ออุบัติภัยต่างๆ”
ดร.อภิชัย กล่าว การจัดทำโรดแม็พครั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เป็นการประชุมระดมความคิดทุกๆ 2 เดือน จำนวน 3 ครั้งในการทำข้อมูล ซึ่งจะมีการวิจัยในด้านต่างๆ เสนอแนะแนวทางปฏิบัติโดยหวังว่าจะให้รัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งนำไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณบางส่วนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ทั้งนี้รัฐบาลชุดนี้มีเวลาเหลือในการบริหารประเทศเพียง 6 เดือน ตนคิดว่าไม่สามารถจะทำโรดแม็พชุดนี้เสร็จทัน อย่างไรก็ตาม ก็คิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่สามารถปฏิบัติได้จริงและจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นใช้ในระดับประชาคมโลกด้วย
แหล่งที่มาข่าว :http://www.komchadluek.net/2007/05/15/a001_116336.php?news_id=116336 |