รัฐ-เอกชนผุดโรดแมพศก.พอเพียง    
     
     ผุดโรดแมพเศรษฐกิจพอเพียง แก้โจทย์ประเทศไทย ปลุกทั่วโลกร่วมสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง ระหว่างประเทศ หน่วยงานรัฐ เอกชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ระดมสมองจัดทำโรดแมพเศรษฐกิจพอเพียง หวังนำใช้บริหารประเทศได้จริงจัง หวั่นเปลี่ยนรัฐบาลสุรยุทธ์นโยบายหาย พร้อมปลุกกระแสทั่วโลกใช้เศรษฐกิจทางเลือก ยกปรัชญาพอเพียงสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ

     การจัดระดมสมองครั้งที่ 1 โรดแมพเศรษฐกิจพอเพียง ของสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โครงการจัดทำแผนที่เดินทาง (โรดแมพ) และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ

     ดร.อภิชัย พันธเสน ผอ.สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศนี้ เป็นการต่อยอดจากนโยบายของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่ก่อนหน้านี้ การเผยแพร่หลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นเพียงการนำเสนอหลักการในเชิงหลักปรัชญา ที่อาจจะยังไม่ได้ระบุหลักปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม

     "ในต่างประเทศมีการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน เพียงแต่เรียกในชื่ออื่น เช่น ประเทศมาเลเซีย มีแนวคิด Islamic economy หรือประเทศอังกฤษ มีระบบเศรษฐศาสตร์มนุษยนิยม (humanistic economy) และ economics of happiness ประเทศแถบละตินอเมริกา เช่น อาร์เจนตินา บราซิล มีระบบเศรษฐกิจสมานฉันท์ (solidarity economics) หรือบังกลาเทศก็มีระบบธนาคารคนจน ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เน้นความสมดุลและยั่งยืน"

     ดร.อภิชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ต่างประเทศสนใจเข้าร่วมการสัมมนาในประเทศไทยกันมาก เช่นในเดือนกรกฎาคม จะมีการประชุม economics of happiness ส่วนในเดือนธันวาคม องค์การสหประชาชาติ (UNESCO) จะจัดประชุมการศึกษาระดับการมีส่วนร่วมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ก็จะมีวาระการประชุมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงโดยเฉพาะด้วย

     ส่วนการจัดทำโรดแมพเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อจะให้นโยบายนี้อยู่กับประเทศไทยต่อไป แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาล เนื่องจากเกรงว่าหากมีการเลือกตั้งและเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศก็จะหายไปกับรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งโรดแมพจะจัดทำเป็นแผน ทั้งระยะสั้น กลางและยาว ภายใน 20 ปี เพื่อที่จะเน้นพัฒนาเศรษฐกิจระดับรากแก้ว เนื่องจากขณะนี้ ปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่ภาคชนบท เป็นกลุ่มคนที่รายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ 

      การจัดทำโรดแมพจะกำหนดว่าประเทศไทยจะมุ่งหน้าไปในทิศทางใด เป็นการจัดลำดับความสำคัญของการไปสู่เป้าหมายในประเด็นต่างๆ
โดยที่จริงแล้ว ประเทศไทยก็เริ่มมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ที่เน้นให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางการพัฒนาของประเทศ แต่บางครั้งก็ไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างแท้จริง ซึ่งแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 เป็นการเน้นความสุขของประชาชนชาวไทยอย่างเป็นทางการฉบับแรก

     ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผอ.สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ กล่าวว่า การทำงานของเครือข่ายขณะนี้อยู่ระหว่างการประชุมนักวิชาการในเวทีสากล เพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกัน อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์เปรียบเทียบ การเชื่อมโยง และการสังเคราะห์ในเชิงวิชาการ เพื่อให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่แพร่หลายในเวทีโลก ซึ่งในอนาคตมีโครงการดำเนินจัดเวทีประชุมระดับนานาชาติ สัมมนาประชาคมพอเพียงระดับโลก (world sufficiency forum)

     สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากในรัฐบาลชุดนี้ ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า พล.อ.สุรยุทธ์มีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาประเทศ แต่แผนการพัฒนายังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน และนำไปใช้ปฏิบัติโดยเร็ววันไม่ได้ เพราะมีปัญหาที่ต้องสะสางจากรัฐบาลที่แล้ว อีกทั้งคณะรัฐมนตรีบางคนไม่เข้าใจระบบเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นปัญหาในการขับเคลื่อนทั้งประเทศ ทำให้เป็นไปอย่างล่าช้า ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น รัฐบาลนี้ต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจังหน่วยงานต่างๆ ต้องทำงานอย่างบูรณาการกัน

แหล่งที่มาข่าว http://www.bangkokbiznews.com/2007/05/15/news_23670079.php?news_id=23670079

© Copyright 2007 Rural And Social Management Institute (RASMI) and The Thailand Research Fund