ธุรกิจพอเพียง-ศก.พอเพียงกู้วิกฤติโลก (1) 
     
     คอลัมน์ "ธุรกิจพอเพียง" ประเดิมนำเสนอใน "คม ชัด ลึก" ในห้วงเวลาเศรษฐกิจกำลังประสบปัญหา ขณะที่หลายประเทศก็กำลังมองหาเศรษฐกิจทางเลือก เพื่อตอบโจทย์ปัญหาใหม่ อันก่อหวอดมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งองค์ความรู้เดิมๆ อาจไม่เพียงพอที่จะปลดล็อกความซับซ้อนของสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลกอีกต่อไป

     สำหรับประเทศไทย หลักของเศรษฐกิจพอเพียง คือ รหัสมหัศจรรย์ที่กำลังรอปลดล็อกให้สังคมไทยในหลายๆ ด้าน อยู่ที่ว่าภาคส่วนไหนจะนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดดอกออกผล

     คอลัมน์นี้ขออาสานำเสนอการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงกับธุรกิจ การค้าขาย ตลอดจนการทำมาหากินทุกแขนงทุกวันอังคารในหน้าเศรษฐกิจของ "คม ชัด ลึก"

     วันแรกของการนำเสนอ จะไม่ขอกล่าวถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะหาข้อมูลได้ทั่วไป เนื่องจากรัฐบาลก็ได้ประกาศเป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ แต่จะขอนำเสนอในมิติที่เชื่อมโยงระดับนานาชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องของการปิดประเทศ หรือเป็นเรื่องของประเทศไทยเพียงเท่านั้น แต่กำลังเป็นที่สนใจและประยุกต์ใช้หลายประเทศทั่วโลก เพียงแต่ใช้ชื่อต่างกัน

     โดยที่การเผยแพร่และการเชื่อมโยง แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจทางเลือกที่มีหลักการร่วมกันกับเศรษฐกิจพอเพียง กำลังเป็นเรื่องที่นักวิชาการและเครือข่ายผู้ศรัทธาในแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรารถนาที่จะให้แพร่กระจายไปช่วยแก้ปัญหาให้ประชากรทั่วโลก ไม่เฉพาะเมืองไทย และพยายาม สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

     เพราะในโลกใบนี้ ยังมีระบบเศรษฐกิจอื่นที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่า Sufficiency Economy หรือเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งแม้จะใช้ชื่ออื่น แต่ก็มีจุดหมายเดียวกัน 

     การหาจุดร่วม การวิเคราะห์เปรียบเทียบ การเผยแพร่สร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ ก็เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้ไปสู่จุดหมายเดียวกัน เป็นจุดหมายที่มีความสมดุลพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงและก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

     ก่อนหน้านี้ องค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP : ยูเอ็นดีพี) ได้จัดทำรายงานการพัฒนาประจำปีของคนทั้งโลกและรายงานประจำปี 2550 ในส่วนของประเทศไทยยูเอ็นดีพี ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปเป็นหลักในการรายงานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ทั่วโลก ในรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2550 ในหัวข้อ "เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน" นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวได้บรรจุหัวข้อที่ยูเอ็นดีพี ให้ความสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียงกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียงกับภาคธุรกิจ เศรษฐกิจพอเพียงและระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเศรษฐกิจพอเพียงกับการศึกษา รวมถึงเศรษฐกิจพอเพียงกับการประยุกต์ใช้ แสดงให้เห็นว่า แม้แต่องค์กรใหญ่อย่าง ยูเอ็นดีพี ก็ได้เล็งเห็นแนวทางใหม่ในการพัฒนา

ผู้เขียน : นงค์นาถ ห่านวิไล
แหล่งที่มาข่าว http://www.komchadluek.net/2007/06/07/d001_121535.php?news_id=121535

© Copyright 2007 Rural And Social Management Institute (RASMI) and The Thailand Research Fund